เรื่อง การเสริมต่อโครงการตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ด้วยหลักคิดการตลาดนำการผลิตทางการเกษตร
เรียน ปล.กษ./อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าระดับกรม/ผต.กษ. ทุกเขตและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัด กษ.
ผู้รับทราบ: ผวจ. และนายอำเภอ ทุกจังหวัด
ตามที่ กษ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสนับสนุนส่งเสริมการร่วมกลุ่มเกษตรกรให้เป็นสถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็งโดยให้มีการบูรณาการเจ้าหน้าที่ในสังกัด กษ. ทุกหน่วยงานลงไปร่วมกันในการดูแลเกษตรกรในระบบเกษตรแปลงใหญ่ นั้น
กษ. ขอมอบหมายให้ ปล.กษ.และผู้บริหาร กษ. ฝ่ายประจำ ได้กำหนดแนวทางการบริหารหรือนำนโยบายดังกล่าวข้างต้นไปดำเนินการ (implement) ในพื้นที่ให้ต่อเนื่องและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้เพิ่มเติมโดยนำหลักคิดในเรื่องการตลาดนำการผลิตทางการเกษตรไปดำเนินการด้วย ดังนี้
๑.ขอให้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด (อ.พ.ก.)ที่มีรอง ผวจ.เป็นประธานและเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ เพื่อมอบหมายให้ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation)ซึ่งมีเกษตรจังหวัดเป็นเจ้าของเรื่องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตามขั้นตอน ดังนี้
๑.๑ สำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลเกษตรแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ จำนวน ๕๐ไร่ขึ้นไปที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และยังไม่มีแผนการผลิตและแผนการตลาดอย่างครบวงจร และผลผลิตของสมาชิกยังมีปัญหาไม่มีตลาดรองรับนั้น มีจำนวนกี่แปลง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัดไหนและเกษตรกรสมาชิกปลูกพืชหรือประกอบการเกษตรกรรมประเภทอะไรเป็นส่วนใหญ่ มีการรวมตัวกันจดทะเบียนกลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนหรือสมาชิกสหกรณ์การเกษตรแล้วหรือไม่อย่างไร
๑.๒ วิเคราะห์แผนการผลิต แผนการตลาดของเกษตรแปลงใหญ่ว่า มีปัญหาหรือจุดอ่อนในเรื่องอะไรที่เกินขีดความสามารถของหน่วยงานในพื้นที่ที่จะแก้ไขได้ และต้องการขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลางในเรื่องอะไรบ้าง
๑.๓ ในเบื้องต้นนี้ขอให้คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯระดับจังหวัด(Chief of Operation)ได้มอบหมายคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาการเกษตรระดับอำเภอ
(operation team)รวมทั้งขอให้อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัดกษ.ทุกหน่วยสั่งการมอบหมายเจ้าหน้าที่ กษ.ในสังกัดที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับจังหวัดหรือเขตหรือภาคหรือศูนย์วิชาการ/เรียนรู้หรือสถานีทดลองต่างๆ เข้าไปบูรณาการร่วมงานกันเป็นชุดปฎิบัติการ
เกษตร(ชป.กษ.)ประจำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพื่อลงไปดูแลแนะนำช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดหาแหล่งนำ้ การวิเคราะห์ตรวจคุณภาพดินเพื่อหาสารอาหารหรือแร่ธาตุในดิน การแนะนำเลือกพืชหรือสัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรือความต้องการของตลาด การเลี้ยงสัตว์น้ำ การดูแลป้องกันโรคพืช โรคสัตว์ แนะนำการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ฯลฯ กล่าวโดยสรุปชุดปฏิบัติการเกษตร(ชป.กษ.)ซึ่งมีเกษตรตำบลเป็นหัวหน้าชุดจะทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการแปลงหรือฟาร์มการเกษตรกรรมหรือที่ปรึกษาของเกษตรกรในพื้นที่แปลงในพื้นที่
๒.ขอให้นำข้อมูลจาก ข้อ ๑ มาจัดประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการฯ จังหวัด (อ.พ.ก.) กับหน่วยงานรัฐและเอกชนด้านการตลาดซึ่งได้แก่พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ธกส.หรือหน่วยราชการที่รับซื้อสินค้าการเกษตรไปใช้ในหน่วยงานเช่นโรงเรียน โรงพยาบาล หรือชมรมธนาคารจังหวัดหรือหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดรวมทั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดให้มาร่วมกันพิจารณารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่หรือร่วมวางแผนการตลาดให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรืออาจให้มีการตกลงจับคู่ค้าขายกันตามพันธะสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มเกษตรกรสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่หรือวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรกับภาคเอกชนผู้ค้าปลีก ค้าส่งหรือส่งออกประเทศ บริษัท ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค หรือร้านค้าสะดวกซื้อซึ่งมีสาขาอยู่ในจังหวัดต่างๆแล้ว
๓.หากการดำเนินการตามข้อ ๒ มีปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับผลผลิตของเกษตรกรล้นตลาดหรือ ไม่มีผู้รับซื้อผลผลิต ก็ให้รีบรายงานคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ซึ่งมี ปล.กษ. เป็นประธาน คกก. ทราบโดยด่วนที่สุด เพื่อส่วนกลางจะได้หาแนวทางหรือประสานงานกับหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนในส่วนกลาง ลงไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้จังหวัดต่อไป
๔.สำหรับพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก และมีปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำนั้น ขอให้คณะอนุกรรมการฯ จังหวัด (อ.พ.ก.) ได้มอบให้คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation) เป็นหน่วยดำเนินการต่อไป ดังนี้
๔.๑ ขอให้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการปลูกยางซึ่งมีหลักการรองรับการพัฒนาอาชีพปลูกยางพารา ดังนี้
(๑) การเปลี่ยนอาชีพจากการทำสวนยางมาทำเกษตรกรรมใหม่ ที่มีตลาดรองรับหรือมีโอกาสที่เกษตรกรจะรายได้มากกว่าการทำสวนยาง
(๒) เกษตรกรที่จะเข้ารวมโครงการตามข้อ(๑) ต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มและมีสวนยางหรือแปลงยางติดกันหรือใกล้เคียงกันในตำบลหรือหมู่บ้านเดียวกัน โดยมีขนาดเนื้อที่รวมกันตั้งแต่ ๕๐ไร่ขึ้นไป คล้ายหลักการในโครงการเกษตรแปลงใหญ่
(๓) สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรมใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพทำสวนยางมาทำเกษตรกรรมใหม่ ตามคำแนะนำของทางราชการนั้น ทางราชการจะรับผิดชอบดูแลสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการตลาดรวมทั้งหาอาชีพเสริมในช่วงรอผลผลิตทางการเกษตรกรรมใหม่ที่จะขายได้ด้วย
๔.๒ รวบรวมรายชื่อเกษตรกรตามข้อ๔.๑ และจำนวนพื้นที่แปลงสวนยางที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ว่า แต่ละจังหวัดมีจำนวนพื้นที่แปลงใหญ่กี่แปลง แต่ละแปลงมีขนาดพื้นที่กี่ไร่ และกลุ่มเกษตรกรเจ้าสวนยางเหล่านั้นมีการจดทะเบียนกลุ่ม/วิสาหกิจหรือเป็นสมาชิกสหกรณ์หรือไม่
๕.ในระดับนโยบายคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมี รมว.กษ. เป็นประธานและเลขาธิการ สศก.เป็นเลขานุการ จะนำข้อมูลตามข้อ ๑-๔ มาประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในส่วนกลาง เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการตลาดของผลผลิตเกษตรกรรมตามโครงการเกษตรแปลงใหญ่และโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ทดแทนการทำสวนยางและจะแจ้งผลให้จังหวัดทราบต่อไป
๖.ขอมอบหมายให้ ปล.กษ. กำหนดมาตรการและวิธีการให้ ผต.กษ.ระดับกระทรวงและระดับกรม เป็นคณะทำงานตรวจแนะนำและติดตามการดำเนินการของจังหวัด ตามข้อ ๑-๕ ประจำพื้นที่ทั้ง ๗๖ จังหวัดว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการของจังหวัดและอำเภออย่างไร หรือไม่ เพื่อรวบรวมรายงานให้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ทราบ จะได้ให้การสนับสนุนหรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ถูกต้องต่อไป.
รมว.กษ.เมื่อ ๑๔ ม.ค.๖๑