Sunday, November 4, 2018

ถอดรหัสผาปังโมเดลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ กิจการเพื่อสังคมยั่งยืน

source: https://www.prachachat.net/advertorial/news-242659


ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ชุมชนเล็กๆ ท่ามกลางป่าเขาอย่างชุมชนผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง พิสูจน์ตัวเองได้อย่างดีว่าการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนด้วยความตระหนักคิดแห่งจิตวิญญาณ Mind set ที่ระเบิดจากข้างในของคนในพื้นที่ชุมชน ที่ก้าวไปถึงขีดความสามารถนำพาความยั่งยืนมาสู่ชุมชนอย่างแท้จริง การพัฒนาและจัดการทรัพยากรในพื้นที่เริ่มโดยการขับเคลื่อนจากพลังเล็กๆ ของกลุ่มคนในชุมชนที่ตระหนักคิดถึงวิกฤตชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมและใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ Innovation Square Mater อย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความสมดุลทางธรรมชาติ


“นายรังสฤษฎ์ คุณชัยมัง” ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง กล่าวว่า ผาปังเป็นตำบลที่เล็กที่สุดในประเทศไทย มีจำนวน 5 หมู่บ้าน มีประชากรที่อาศัยอยู่จริงราว 1,000 คน 462 ครัวเรือน ร้อยละ 41 ของคนในพื้นที่เป็นผู้สูงอายุ หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ชุมชนมีปัญหาน้ำแล้งทำให้มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกน้อยมาก เป็นพื้นที่เชิงเขาหินปูน คนในพื้นที่บางส่วนเริ่มอพยพย้ายถิ่นฐาน ทยอยออกจากหมู่บ้านไปทำกินในพื้นที่อื่น แต่ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาเป็นการอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง ไปสร้างครอบครัวในต่างถิ่น จึงเหลือแต่ผู้สูงอายุ ไม่มีคนวัยหนุ่มสาว มีเด็กแรกเกิดอัตราเฉลี่ย 3 คนต่อปี ประชาชนในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนราษฎรไม่เพียงพอ ไม่เข้าหลักเกณฑ์การกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่น ทำให้ไม่มี อบต.ผาปัง เป็นของตนเอง ต้องไปรวมกับ อบต.แม่พริก ซึ่งมีระยะห่างกันกว่า 25 กิโลเมตร และยังมีเขตพัฒนาของเทศบาลคั่นกลาง กลายเป็นชุมชนด้อยโอกาสการพัฒนา เป็นแดนสนธยาที่ขาดหน่วยงานราชการ และการเมืองท้องถิ่นดูแลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ไม่มีใครอยากทำกินอยู่ที่นี่
“ชุมชนเราเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีป่าอุดมสมบูรณ์ แต่เป็นป่าเต็งรัง ผสมผสานกับป่าไผ่  ที่ราบเชิงเขาเป็นหินลูกรังปนทรายไม่สามารถทำการเกษตรได้ มีเทือกเขาเป็นเขาหินปูนบังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่เงาฝนขาดแคลนแหล่งน้ำ และไม่มีระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง หนักที่สุด คือชาวบ้านผาปังบางครอบครัวหนีไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นในปี 2547 ผมจึงชักชวนกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ทำงานในสาขาต่างๆ มีทั้งคนที่ประสบการณ์ด้านการการเกษตร วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การบริหาร การตลาด ทำเหมือนจัดตั้งบริษัท คือนำคนที่มีความรู้ที่หลากหลายมาช่วยกันคิดร่วมกันแก้ไขปัญหา เป็นการรวมกลุ่มเหมือนองค์กรหนึ่ง หรือเป็นการรวมพล รวมพลังสามัคคี เป็นกองทัพประชาชนเหมือนหมู่บ้านบางระจัน เพียงแต่เราไม่รอทัพหลวงหรือให้ภาครัฐเขามาช่วย เราทุบหม้อข้าว ตีแหกฝ่าวงล้อมต่อสู้กับปัญหาอย่างมุ่งมั่นเพื่อให้ชนะตนเอง เมื่อ”คน”พร้อมจากนั้นก็ออกแบบกระบวนการ และประเมินรายละเอียดความคุ้มค่า การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การติดกระดุมเม็ดแรกจะต้องไม่พลาด เราเรียกสิ่งที่เราทำร่วมกันว่า ไม่ใช่    ”หน้าที่” แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่คนผาปังควรทำ”น่าทำ” มันไม่ใช่”กิจกรรม”ที่ทำจบเป็นโครงการๆ เราต้องก้าวไปถึงขีดความสามารถที่ชุมชนพึ่งตนเองได้ในรูปแบบ “กิจการชุมชน”ที่ยั่งยืน
วันเวลาผ่านไปปัจจุบันผาปังก้าวผ่านสู่วิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืนใช้องค์ความรู้ของคนในท้องถิ่นยึดโยงด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผอ.มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง บอกอีกว่า การสร้างคนให้มีความรู้เท่าเทียมกัน ให้คนจบ ป.4 ที่มีประสบการณ์อยู่ภายในชุมชน และคนมีความรู้ ประสบการณ์หลากหลาย ให้คุยกันรู้เรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ใช้กระบวนการเติมตำราปัญญาปฎิบัติศึกษาด้วยการปฏิบัติจริงมาเป็นกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้ จนต่อยอดเป็นกิจการ และยกระดับเป็น SE (Social Enterprise) ในชุมชนแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท ถ่านไผ่ผาปัง จำกัด ผลิตถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูง Acrivated Charcoal และ บริษัท กรีน คอมมูนิตี้ จำกัด ให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ทำเรื่องการท่องเที่ยว โดยในปี 2561 นี้จะมีกระบวนการพัฒนาพลังงานชุมชนจัดการตนเอง 2 แบบ คือ แบบที่ 1 นำไผ่มาผลิตเป็นถ่านเชื้อเพลิงพลังงานประสิทธิภาพสูง นำถ่านไผ่ไปทดแทนน้ำมันสูบน้ำเพื่อการเกษตร มีผลประหยัดเชื้อเพลิงกว่าร้อยละ 80 และนำถ่านไผ่ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชุมชนระบบไฮบริด Syngas-Solar Lead Carbon ขนาดกำลังการผลิต 3 – 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง และแบบที่ 2 นำถ่านไผ่ไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ก๊าชหุงต้ม LPG พลังงานความร้อนในระดับครัวเรือน และชุมชน เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงาน และสร้างรายได้จากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังวิจัย และพัฒนาเยื่อไยไผ่ผลิตแบมบูไฟเบอร์ และนำไผ่มาพัฒนาเป็นฟอนิเจอร์ เป็นสถาปัตยกรรมตกแต่งสถานที่ ตกแต่งโฮมสเตย์ ที่พักซึ่งมีไผ่เป็นอัตลักษณ์ช่วยตอบโจทย์ปัจจัยความต้องการของชุมชนได้ทุกข้อ

สิ่งที่น่าสนใจคือ จากวิกฤติหลายสิบปีที่ผ่านมา อะไรคือปัจจัยผลักดันให้ชุมชนผาปังก้าวสู่ชุมชนต้นแบบ ซึ่งนายรังสฤษฎ์ ให้คำตอบว่า “กว่าจะมีวันนี้ก็ต้องผ่านอุปสรรคและล้มเหลวมาแล้วทุกรูปแบบ ในช่วงเริ่มต้นชุมชนทำได้แค่ในระดับกิจกรรมที่ทำแล้วจบเป็นครั้งๆไป ลองผิดลองถูก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนกระบวนการ และเป็นปัญหาของแต่ละวิสาหกิจชุมชนที่แตกต่างกันออกไป แต่ข้อสรุปของปัญหาที่ค้นพบ คือ “คน” จึงเร่งพัฒนาคนภายในชุมชนทุกระดับชั้น ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการชุมชน ต้องไปศึกษา และอบรมเพิ่มเติม เราประกอบร่างองค์ความรู้ทุกแขนง การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองให้ได้อย่างลึกซึ้ง เราต้องรู้ว่าเรามีอะไรดี หรือมีสิ่งใดที่ต้องแก้ไข และเมื่อเจอปัญหาของชุมชน เราให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังจนสำเร็จและพึ่งตนเองได้ เราเรียกสิ่งที่ทำว่า” กิจการชุมชนยั่งยืน” ไม่ใช่ “กิจกรรมชุมชน” ฉะนั้นการคิดทำโครงการ หรือ ปฏิบัติตามหน้าที่ เมื่องบประมาณหมดก็จบกันปีหน้าก็ทำใหม่ ใช้ไม่ได้กับโมเดลที่เราจะทำกับบ้านของเรา เราไม่ทำ CSR แต่ต้องพัฒนามาเป็นกิจการที่สร้างคุณค่าร่วมให้สังคม หรือ CSV –Creating shared value พวกเราจึงสร้างนวัตกรรมในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่กันใหม่ ออกแบบให้พื้นที่แล้งน้ำให้เกิดคุณค่าใหม่ โดยไม่ละทิ้งรากฐานเดิมของชุมชน”
ภาพของผาปังปัจจุบันเปรียบเทียบกับปี 2547 ชุมชนมีการพัฒนาชัดเจนโดยเฉพาะด้านธุรกิจท่องเที่ยว หลังได้รับคำแนะนำด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนจากพี่เลี้ยงอย่าง Local Alike และการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เอกชนต่างๆ ทำให้บ้านผาปังยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งพึ่งพาตัวเองได้หลังจากนั้นจึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรูปแบบวิสาหกิจ สู่รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม รวม 4 ประเภท คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจพลังงานชุมชน ธุรกิจผลิตถ่านประสิทธิภาพสูง และธุรกิจไฟเบอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม
นักพัฒนาหัวหอกแห่งชุมชนผาปัง บอกว่า “ไผ่”เป็นพืชพระเอกของเรื่องเกษตรชุมชนผาปัง ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือทันสมัยอย่างไร โลกใบนี้จะต้องพึ่งพาไผ่ แต่จะแปรรูปไปตามความต้องการใช้ประโยชน์ ด้วยคุณสมบัติพิเศษของไผ่ เป็นพืชกินน้ำน้อยแต่อุ้มน้ำมาก เหมาะกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเงาฝน อีกทั้งยังให้ออกซิเจนมากกว่าพืชทุกชนิดร้อยละ 35 สามารถกักเก็บคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ได้ร้อยละ 75 และมีประโยชน์ครบปัจจัย 4 บวกปัจจัยที่ 5 คือ สามารถนำไปแปรรูปทำเป็นถ่านเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพสูง ชาวบ้านได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนไผ่ เพาะพันธุ์ไผ่ ปลูกไผ่ ให้ชาวบ้านนำไปปลูกไว้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ที่ดินสวนป่าเศรษฐกิจชุมชน มาตรา 20 ที่ดินป่าชุมชน ตามมาตรา 19 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เมื่อได้อายุ 2 ปีกว่าก็ตัดขาย และนำมาแปรรูป“ไม้ไผ่เป็นทุกอย่างของชุมชน ทั้งอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเป็นพลังงาน เราสร้างจุดเด่นจนมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ
แต่อย่างไรก็ตาม การก้าวไปให้ถึงขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองจากทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นยั่งยืนนั้น เราต้องยอมรับว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนอื่นมาเสริมเติมแต่งโดยเฉพาะด้านการตลาด แต่ก่อนที่เราจะไปชวนคนอื่นมาร่วมมือกับเรา เราต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมหรือยัง การติดกระดุมจะต้องไม่ผิดตั้งแต่เม็ดแรก เราจะไม่ด่าคนอื่น วิเคราะห์ตัวเองให้ออก และด่าตัวเองให้มากแก้ไขที่ตนเอง เมื่อเราแก้ไขก็ต้องได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ในปี 2555 ผมแสวงหาต้นทุนจากนอกชุมชน จนในปี 2558 มาถึงปัจจุบัน เราหาพันธมิตรมาเติมเต็มงานพัฒนาของเรามีทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ผอ.มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ย้ำ และบอกอีกว่า จากความสำเร็จดังกล่าว ชุมชนผาปัง มีเป้าหมายสู่การตามกระบวนการที่เราทำตรงนี้ในอนาคต พื้นที่ป่า 24,451 ไร่ และมีป่าไผ่กว่า 15,500 ไร่ ที่คนทั้งตำบลร่วมกันปลูก และดูแลป่าไผ่เดิม จะกลายเป็นอุโมงค์ไผ่ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย มันจะเป็นเสน่ห์แห่งโลกตะวันออก มันจะเป็นตัวดึงดูดให้คนทั้งประเทศรู้จักผาปัง ผ่านความสวยงาม และความอลังการตามธรรมชาติ
การทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างชาวบ้าน ผนวกกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กอรปกับการจัดการในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ผาปังแบ่งงานที่ควรทำ “น่าทำ”เป็นระบบคู่ขนานกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ต่างจากองค์กรชั้นนำทั่วไป โดยมีมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงในรูปแบบ “คณะกรรมการบริหารชุมชน” ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน มีเจ้าหน้าอำนวยการ ทำหน้าที่บริหารจัดการ และมีวิสาหกิจชุมชนต่างๆ รับผิดชอบขับเคลื่อนกิจการในแต่ละเรื่อง
“ชาวบ้านมีองค์ความรู้ (Know how) ชุมชนมีห้องวิจัยของตัวเอง มีกติกาชุมชนมีธรรมนูญหมู่บ้านที่แน่ชัด หลักการทำงานของเราจะเริ่มจากการวิจัยและพัฒนาก่อน ดูว่าไผ่ชนิดนี้สามารถไปแปรรูปทำอะไรได้บ้าง หากทดลองใช้แล้วมีประสิทธิภาพจึงค่อยเชื่อมโยงตลาด และเมื่อมีตลาดรองรับก็จะกลับมาวางแผนการผลิต อย่างถ่านไม้ไผ่เราก็พัฒนาอย่างเป็นระบบ แยกออกเป็นถ่านพลังงาน ถ่านอุตสาหกรรม ถ่านประสิทธิภาพสูง แล้วแต่การแปรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในแต่ละด้าน มีสมาชิกในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน และร่วมกับหน่วยงานความร่วมมือในแต่ละด้านโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ และเอกชน ซึ่งสามารถประกอบ”กิจการ”ร่วมกับประชาชนได้ สำหรับหน่วยงานภาครัฐจะเป็นหน่วยงาน ส่งเสริม สนับสนุนเชิงกิจกรรม เพื่อให้การดำเนินกิจการให้สำเร็จตามเป้าหมาย

กิจการที่ชุมชนเรากำลังทำเป็นแผนการทำงานที่ตอบโจทย์ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เป็นอนาคตของลูกหลาน เป็นความยั่งยืน เราจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่ไม่ละทิ้งประชากรส่วนมากของเรา นั่นคือกลุ่มผู้สูงอายุ จึงเกิดศูนย์นวัตกรรมผู้สูงอายุ สมาชิกของทั้งสองกลุ่มได้เข้ามารับหน้าที่ในกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชน นวัตธรรมชีวิตชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม โดยใช้ไผ่เป็นเครื่องมือการต้อนรับผู้มาเยือนตำบลผาปังที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการกิน การอยู่ของชุมชนผาปัง ชุมชนผาปังไม่มีมุมถ่ายภาพสวยๆ เหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ แต่มีความสะอาด ปลอดภัย อบอุ่น และที่สำคัญ มี”คน”ทั้งเด็กและผู้สูงอายุที่มีอัทยาศัยดี สามารถเป็นผู้สื่อความหมายได้ทั้งภาษไทยและภาษาอังกฤษ ที่สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและนานาประเทศ และอยากมาอีก ซ้ำๆ เพราะมีความประทับใจในเมตตาธรรมของผู้สูงอายุผาปัง และความน่ารักของเด็ก ทำให้ตอนนี้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจองคิวการท่องเที่ยวชุมชนผาปังในปี 2562 แล้ว”
ชุมชนผาปังวางเป้าหมายที่ไกลกว่าความอยู่รอดในปัจจุบัน แต่ยังมองการณ์ไกลถึงการพัฒนากิจการชุมชนให้มีกำไร และนำกิจการชุมชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในฐานะบริษัท กิจการเพื่อสังคม โดยให้ฐานะของตัวเองว่าเป็นสตาร์ทอัพที่อยากเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุน หากทำได้จริง ในอนาคตอันใกล้กิจการของชุมชนผาปังอาจมีชื่อในตลาดหลักทรัพย์ เป็นสิ่งการันตีว่าชุมชนเล็กๆ ก้าวทะลุขีดความสามารถการพึ่งพาตนเอง และนำพาความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ก่อนที่เราจะไปชวนคนอื่น เราต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมหรือยัง การติดกระดุมจะต้องไม่ผิดตั้งแต่เม็ดแรก เราจะไม่ด่าคนอื่น วิเคราะห์ตัวเองให้ออก และด่าตัวเองให้มาก เพื่อจะได้เห็นข้อผิดพลาด ในปี 2555 ผมแสวงหาต้นทุนจากนอกชุมชน จนในปี 2558 มาถึงปัจจุบัน เราหาพันธมิตรมาเติมเต็มงานพัฒนาของเรา เพราะความสำเร็จหรือยั่งยืนไม่สามารถทำโดยลำพังได้”

No comments:

Post a Comment