Sunday, October 20, 2019

โครงการป่าเปียก



โครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้งานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

(source : http://www.eppo.go.th/index.php/en/component/k2/item/10849)

ระบบสูบน้ำเพื่อทำระบบป่าเปียกด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ บริเวณเขาบ่อขิง โดยกรมโยธาธิการ
กรมโยธาธิการได้เข้าไปสำรวจและออกแบบเพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในการทำระบบป่าเปียกในการฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณเขาบ่อขิง ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีระบบสูบน้ำหรืออ่างเก็บน้ำบนยอดเขา และมักประสบกับปัญหาสภาพป่าค่อยข้างแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งเสมอ
ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำไปติดตั้งนี้ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,200 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสตรง 2 เครื่อง ชุดควบคุม 2 ชุด ถังเก็บน้ำคอนกรีตขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง และท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว เป็นระยะทาง 1,150 เมตร จำนวน 2 ท่อ ซึ่งในระบบนี้ เครื่องสูบน้ำจะทำงานในเวลากลางวันด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทราบได้ประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่งผ่านท่อที่มีระยะยกน้ำสูง 110 เมตร ขึ้นไปเก็บไว้ในถังคอนกรีตบนยอดเขาบ่อขิง สำหรับให้น้ำแก่พื้นที่ป่าไม้บนภูเขา โดยระบบดังกล่าวมีความสามารถในการสูบน้ำได้ถึง 5,100 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด โดยกรมโยธาธิการ (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
ก่อนการดำเนินการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่พัฒนาแล้วจำนวน 240 ไร่ของสวนสมเด็จฯ มีเครื่องยนต์ดีเซลสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดไปเก็บไว้ในสระขนาด 6,400 ลูกบาศก์เมตร แล้วปล่อยน้ำโดยใช้แรงโน้มถ่วงเข้าสู่พื้นที่ด้านบนของสวนสมเด็จฯ แต่ปัจจุบันระบบเครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าวไม่ได้ใช้งานเนื่องจากมีค่าเชื้อเพลิงที่สูงมาก เพราะเป็นระบบขนาดใหญ่ที่มีการสูบน้ำจำนวนมากและส่งน้ำไปในท่อระยะไกล
กรมโยธาธิการได้เข้าไปติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์ที่ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6,600 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสสลับ (positive displacement) ขนาด 4.5 แรงม้า จำนวน 4 เครื่อง อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าและท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว เป็นระยะทาง 1,600 เมตร จำนวน 1 ชุด โดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดไปเก็บไว้ในสระน้ำทางด้านบนของสวนสมเด็จฯ ที่มีความจุ 2,000 ลูกบาศก์เมตร มีระยะยกน้ำสูง 15 เมตร เพื่อปล่อยน้ำลงพื้นที่เกษตร และไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานรายวัน จึงทำให้ลดค่าดำเนินการและซ่อมบำรุงไปได้ อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม และไม่มีเสียงดังรบกวนจากเครื่องยนต์ดีเซล
ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
จากการสำรวจพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว 240 ไร่ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พบว่า มีปัญหาในระบบสูบน้ำเพื่อใช้ในโครงการ ซึ่งเดิมกรมชลประทานได้ขุดบ่อน้ำไว้ตามพื้นที่เกษตรต่างๆ เป็นจำนวน 5 บ่อหลัก ซึ่งสามารถรองรับปริมาณน้ำจากคลองชลประทานได้ โดยแต่ละบ่อใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 11 แรงม้า สูบน้ำได้วันละ 100 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ แต่ยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่มีปริมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหามลภาวะจากการใช้เครื่องยนต์ดีเซลขึ้นอีกด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 5 ระบบขึ้นในพื้นที่ ได้แก่
ระบบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 1 ระบบ บริเวณทฤษฎีใหม่ (น้ำฝน) ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 150 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสตรงขนาด 0.5 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด และหัวฉีดกระจายจ่ายน้ำ โดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปเก็บในถังเก็บน้ำแล้วส่งน้ำไปตามท่อด้วยแรงโน้มถ่วงผ่านหัวฉีดกระจายจ่ายน้ำไปใช้ในพื้นที่ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำประมาณวันละ 4 ลูกบาศก์เมตร
ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ระบบ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 600 วัตต์ จำนวน 4 ชุด เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสตรงขนาด 1 แรงม้า จำนวน 4 เครื่อง อุปการณ์ควบคุม 4 ชุด ถังสูงเก็บน้ำความจุ 8 ลูกบาศก์เมตร สูง 10 เมตร จำนวน 4 ถัง ท่อส่งน้ำ 4 ชุด และหัวฉีดกระจายจ่ายน้ำ โดยเครื่องสูบน้ำจะทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปเก็บในถังสูง แล้วส่งไปตามท่อด้วยแรงโน้มถ่วงผ่านหัวฉีดกระจายจ่ายน้ำเพื่อรดแปลงผัก ผลไม้ ไม้ดอก ได้วันละ 100 ลูกบาศก์เมตร เป็นการเสริมกับระบบสูบน้ำเครื่องยนต์ดีเซลเดิมที่สามารถสูบได้วันละ 100 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 200 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำจริงๆ ของพื้นที่สวนเกษตรจำนวน 240 ไร่ภายในสวนสมเด็จ
ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ บริเวณทฤษฎีใหม่ (น้ำชลประทาน) โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด
ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 375 วัตต์ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์โซลาร์ตรอน ขนาด 75 วัตต์ จำนวน 5 แผง รวมเป็น 375 วัตต์ เครื่องปรับแรงดันไฟฟ้า MPPT ขนาด 400 วัตต์ จำนวน 1 ชุด และเครื่องสูบน้ำแบบผิวดิน CP-1600 จำนวน 1 ชุด ซึ่งได้ทำการติดตั้งโดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินไปเก็บไว้ในแทงก์น้ำปลอกคอนกรีต ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 8 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีระดับความสูงของทางส่งน้ำที่ 15 เมตร สามารถสูบน้ำได้ประมาณ 15,000 ลิตร/วัน เพื่อนำไปใช้งานบริเวณแปลงเกษตรสาธิตทฤษฎีใหม่น้ำชลประทาน สวนสมเด็จพระศรีนทราบรมราชชนนี เพื่อการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูก
ระบบสูบน้ำสำหรับประปาหมู่บ้านด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยกรมโยธาธิการ
ระบบสูบน้ำสำหรับประปาหมู่บ้านด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์นี้ ติดตั้งอยู่หมู่บ้านชาวไทยมุสลิมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีประชากร 35 ครัวเรือน ซึ่งแต่เดิมมีระบบสูบน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคซึ่งใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งในการเดินเครื่องสูบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคอยู่แล้วแต่มีภาระด้านค่าไฟฟ้าสูง ทางกรมโยธาธิการ จึงได้ออกแบบและทำการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 53 วัตต์ จำนวน 21 แผง รวม 1,113 วัตต์ เครื่องสูบน้ำมอเตอร์กระแสสลับ 1 เครื่อง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เพื่อทดแทนระบบเดิม โดยเครื่องสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์จะทำงานในเวลากลางวัน สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่งเข้าท่อประปาให้กับหมู่บ้านได้วันละ 23 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นปริมาณปีละ 8,100 ลูกบาศก์เมตร

ระบบไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด
ระบบไฟฟ้าแสงสว่างด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 75 วัตต์ จำนวน 3 แผง รวมเป็น 225 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุมบริเวณศาลาทรงงาน ขนาด 12 โวลต์ 6 แอมแปร์ จำนวน 1 ชุด อุปกรณ์ควบคุม บริเวณโรงเลี้ยงไก่ ขนาด 12 โวลต์ 10 แอมแปร์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ชนิดเจล ขนาด 6 โวลต์ 150 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 4 ลูก หลอดไฟประหยัดพลังงาน ขนาด 12 โวลต์ 7 วัตต์ จำนวน 9 หลอด และหลอดไฟประหยัดพลังงาน ขนาด 12 โวลต์ 11 วัตต์ จำนวน 6 หลอด โดยติดตั้งระบบดังกล่าวไว้ในบริเวณสวนสมเด็จฯ 2 จุด ด้วยกัน คือ ที่ศาลาทรงงาน และที่โรงเลี้ยงไก่ ทั้ง 2 จุดนี้สามารถใช้งานได้ 4 ชั่วโมง คือ เปิดทำงานโดยอัตโนมัติตอนช่วงหัวค่ำ 3 ชั่วโมง และจะทำงานอีกครั้งในช่วงเช้ามืดอีก 1 ชั่วโมง (การทำงานโดยอัตโนมัติเป็นผลมาจากการทำงานของอุปกรณ์ควบคุมการปรับกระแสไฟฟ้า)
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อสายส่ง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน)
ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เชื่อมต่อสายส่งนี้ติดตั้งที่อาคารห้องประชุมสำนักงานประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2,100 วัตต์ อุปกรณ์ควบคุม 1 ชุด เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า 1 ชุด และวัตต์มิเตอร์แสดงผลการผลิตไฟฟ้า 1 ชุด
ในเวลาที่มีแสงอาทิตย์ เซลล์แสงอาทิตย์จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง จากการออกแบบระบบจะให้ไฟฟ้ากระแสตรงขนาดแรงดัน 220-240 โวลต์ และกระแสไฟฟ้า 6-8 แอมแปร์ ไฟฟ้ากระแสตรง ที่ผลิตได้จะไหลผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าและถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่มีแรงดัน 220 โวลต์ และมีคุณสมบัติเหมือนกับกระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบนี้จึงสามารถใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกชนิด โดยในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์มีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในขณะนั้น กระแสไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกขายคืนเข้าในระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ในทางกลับกันหากความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในขณะนั้นมีมากกว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ กระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดก็จะถูกซื้อเสริมเข้ามาจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ตามปกติ ซึ่งการทำงานของระบบได้รับการออกแบบให้เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการปิด-เปิดระบบแต่อย่างใดในแต่ละวัน


ผลจากการติดตั้งระบบ ทำให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าฯ ลดลงเท่ากับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงบรรพชีวิน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลง อันจะส่งผลให้มลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดังกล่าวลดลงได้อีกทางหนึ่ง
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยบริษัท สยามโซลาร์ แอนด์ อีเลคทรอนิคส์ จำกัด
ลักษณะบ่อผลิตก๊าซชีวภาพเป็นบ่อแบบโดมคงที่ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้วัตถุดิบที่ใช้ในการหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพนั้น ใช้มูลจากคอกโคนมสาธิตจำนวน 6 ตัว สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณวันละ 3-5 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งพอเพียงที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานในการต้มนมแพะและโคนมที่ผลิตได้ภายในศูนย์ฯ ใช้เป็นพลังงานในการกกลูกไก่และลูกเป็ด ทำให้ประหยัดพลังงานก๊าซหุงต้มเดือนละ 2 ถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) ส่วนพลังงานที่เหลือทางศูนย์ฯ จะเดินท่อก๊าซไปบ้านพักคนงานบริเวณโดยรอบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์
ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์นี้ออกแบบและผลิตโดยคนไทย เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายการติดตั้งสะดวก และมีต้นทุนการผลิตต่ำประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 10 วัตต์ จำนวน 1 แผง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 6 วัตต์ จำนวน 1 ชุด แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 4 แอมแปร์ชั่วโมง จำนวน 1 ลูก เซนเซอร์วัดความสว่าง 1 ชุด ชุดตั้งเวลาการทำงานของหลอดไฟกับพัดลม 1 ชุด พัดลมขนาด 2 นิ้ว 1 เครื่องชุดแสดงผลความจุแบตเตอรี่ 1 ชุด ถุงผ้าดักแมลง 1 ถุง และขาตั้งแบบเคลื่อนย้ายได้ 1 ชุด
สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ พบว่า ยังไม่มีเครื่องล่อแมลงที่จะใช้กำจัดแมลงบางชนิดที่เป็นศูตรูพืช จึงได้นำชุดอุปกรณ์นี้มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งลักษณะการทำงานของระบบเป็นไปโดยเซลล์แสงอาทิตย์จะประจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ในเวลากลางวัน เมื่อดวงอาทิตย์ตกดินเซนเซอร์วัดความสว่างจะสั่งให้หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่หลอดไฟสว่างและพัดลมหมุนนั้น หากมีแมลงบินเข้าใกล้ก็จะถูกดูดให้ตกลงไปในถุงผ้า แมลงที่จับได้นี้อาจนำไปใช้ประโยชน์เช่น นำไปเลี้ยงปลา นอกจากนี้ ชุดแสงไฟล่อแมลงยังสามารถติดตั้งไว้กลางบ่อเลี้ยงปลาเพื่อให้แมลงตกลงไปในบ่อปลาโดยตรงได้ด้วย
เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด
เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบด้วยแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ชุด ถังสกัดสารไส้กรอง ท่อน้ำเข้าถังและท่อน้ำเข้า แผงวาล์วเช็คระดับน้ำ ขารับแผงและถัง เป็นอุปกรณ์ที่นำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้ ประโยชน์ในการต้มสกัดสารชีวภาพ ซึ่งมีอยู่ในสมุนไพรบางชนิด เช่น ตะไคร้ หอม สะเดา ข่า และอื่นๆ โดยการทำงานจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงรับแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนจะถูกดูดซับและส่งถ่ายความร้อนให้กับน้ำที่อยู่ในระบบ ทำให้น้ำร้อนและลอยตัวขึ้นที่สูงแล้วไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนเข้าสู่ถังสกัดสารกำจัดศัตรูพืชหรือหม้อต้มซึ่งใส่สมุนไพรไว้ ขณะเดียวกันน้ำส่วนล่างของหม้อต้มก็จะไหลไปตามท่อหุ้มฉนวนด้านตรงข้ามเข้าสู่แผงรับแสงอาทิตย์เพื่อรับพลังงานความร้อนจากแผงเป็นวัฏจักรเรียกว่า ระบบไหลเวียนตามธรรมชาติ น้ำในหม้อต้มจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 90 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาวันละ 6-8 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำสารสกัดจากพืชสมุนไพร 75-100 ลิตรต่อวัน เมื่อปล่อยให้เย็นก็สามารถนำน้ำสารสกัดไปฉีดพ่นพืชผักผลไม้ได้ทันที เพื่อป้องกันศัตรูพืชที่จะมาทำลาย
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนเซนเซอร์หรือไพรานอมิเตอร์ ประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคคอนขนาด 1 ตารางเซนติเมตร และขั้วของเซลล์และอาทิตย์
2. ส่วนอินติเกรตสัญญาณ ทำหน้าที่แสดงผลและอินติเกรตค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เป็นพลังงาน
ประโยชน์ของเครื่องวัดพลังงานแสงอาทิตย์ คือสามารถวัดค่าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทำให้ทราบประสิทธิภาพการทำงานของระบบพลังงานทดแทนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตได้
มุ้งแอร์สุขภาพรุ่นประหยัดพลังงาน โดยนายศฤงคาร รัตนางศุ (สมาคมการประดิษฐ์ไทย)
มุ้งติดแอร์ ประกอบด้วยโครงเหล็กขนาดเล็กแบบถอดประกอยได้ มีหลังคาทรงโค้งคล้ายทรงโดมและมีทางเข้าออก โดยตัวมุ้งผลิตจากผ้าชนิดพิเศษและมีน้ำหนักเบาเป็นลักษณะ 2 ชั้น ชั้นนอกโปร่งและชั้นในทึบเพื่อเป็นฉนวนความร้อน โดยมีช่องแอร์สำหรับต่อเข้ากับเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กที่มีระบบฟอกอากาศ ด้านหน้าพ่นลมเย็น ด้านหลังพ่นลมร้อนซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องทำความอุ่นให้กับมุ้งติดแอร์ได้ เครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่ขนาดเล็กนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนพัดลมซึ่งให้ลมเย็นกว่าพัดลมไอน้ำ และเนื่องจากเป็นเครื่องปรับอากาศเล็กจึงสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าน้อยมาก
ระบบเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด
เครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 6 วัตต์ 12 โวลต์ 0.3 แอมแปร์ จำนวน 1 แผง ขนาด 12 โวลต์ 7 แอมแปร์ จำนวน 1 ลูก และเครื่องขยายเสียง พร้อมไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สาย จำนวน 1 ชุด ชุดเครื่องขยายเสียงถูกดัดแปลงให้สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ มีขนาดกำลังขยาย 50 วัตต์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งไมโครโฟนแบบมีสายและแบบไร้สายซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 0.5 แอมแปร์ และสามารถใช้งานติดต่อกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงต่อวัน เหมาะสำหรับการใช้งานในภาคสนามและเลือกใช้ตามความเหมาะสมได้อีกด้วย
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสทำงานด้วยไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ชุดกรองน้ำดื่มระบบรีเวิร์สออสโมซิสเป็นเครื่องฟอกน้ำจืด น้ำกร่อย หรือ น้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดบริสุทธิ์ โดยมีหลักในการทำงาน คือ ใช้เยื่อเมมเบรน (membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ คล้ายแผ่นกระดาษ แต่มีเนื้อละเอียดถึง 0.0001 ไมครอน ทำให้โมเลกุลของสารละลายในน้ำไม่สามารถลอดผ่านไปได้ โดยเยื้อเมมเบรนจะทำงานควบคู่กับเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงที่ทำหน้าที่ผลักดันน้ำดิบให้ผ่านเยื่อเมมเบรนเครื่องสูบน้ำดังกล่าวทำงานด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบที่นำมาติดตั้งนี้ประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 60 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 624 วัตต์ต่อชั่วโมง ชุดควบคุม และเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง โดยการทำงานจะเริ่มจากการเปิดวาล์วให้น้ำดิบเข้าสู่ระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จะเดินเครื่องสูบน้ำให้ทำงานเพื่อเพิ่มความดันให้น้ำดิบ อัดน้ำผ่านส่วนไส้กรองคาร์บอนทั้งชนิดเม็ดและชนิดผง ส่วนเยื่อกรองเมมเบรน และส่วนไส้กรองคาร์บอนอันสุดท้ายจนได้เป็นน้ำบริสุทธิ์

พ.ต.ท. พีระพงศ์ ช่างสุพรรณ รองผู้กำกับการ 1 กอบบังคับการฝึกพิเศษ และรองหัวหน้ากองอำนวยการศูนย์ฯ ปฎิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลจากการนำโครงการพลังงานทดแทนมาใช้งานภายในศูนย์การพัฒนาห้วยทรายฯ ดังนี้
สภาพการใช้พลังงานที่มีอยู่เดิมภายในศูนย์
พ.ต.ท. พีระพงศ์ : "แต่เดิม ในศูนย์ฯ มีการใช้พลังงานทดแทนอยู่บ้างแล้ว คือ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยแรกเริ่มก็ติดตั้งกังหันลมไว้ 6 ตัว กระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ แล้วก็มีเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทางญี่ปุ่นนำมาติดตั้งให้ที่เขาเสวยกะปิเพื่อใช้ในระบบสูบน้ำขึ้นเขา แต่ปัญหาก็คือระบบเดิมนี้อาจจะยังมีเทคโนโลยีที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถจะดันน้ำขึ้นไปยอดเขาได้ ดังนั้นพื้นที่ที่รับน้ำจากจุดนี้ได้จึงมีน้อย ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ในส่วนของกังหันนั้นถือว่าได้ผลดี เพราะพื้นที่ที่ได้รับผลอยู่ในบริเวณไม่ไกลกัน และน้ำที่สูบได้ก็ใช้เฉพาะในแปลงงานต่างๆ ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนที่นี่เน้นในเรื่องของระบบสูบน้ำ เพราะเราใช้เฉพาะในแปลงงานต่างๆ ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนที่นี่เน้นในเรื่องของระบบสูบน้ำ เพราะเราใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศเป็นหลัก
"แล้วเราก็มีการใช้ระบบเครื่องยนต์ดีเซลและระบบเครื่องยนต์เบนซินในการสูบน้ำ โดยระบบเครื่องยนต์เบนซินจะเป็นปั๊มน้ำขนาดเล็กที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาแต่ปั๊มที่ใช้สูบน้ำประจำที่มีขนาดใหญ่และใช้ในแปลงที่ทำงานศึกษาด้านวิชาการเกษตรนั้น จะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเสียส่วนใหญ่"
การนำโครงการพลังงานทดแทนมาใช้งานภายในศูนย์ฯ เป็นไปในลักษณะใด
พ.ต.ท. พีระพงศ์ : "โครงการนี้นำมาใช้ทดแทนการใช้พลังงานในบางส่วนได้ โดยในศูนย์ของเราจะยังคงใช้ทั้ง 2 ระบบผสมผสานกัน อย่างที่สวนสมเด็จฯ ซึ่งเป็นจุดทดลองงานวิชาการเกษตรต่างๆ ได้แก่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร ทฤษฎีใหม่แบบน้ำฝนหรือชลประทาน เป็นงานที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก แต่เดิมเราใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลักอยู่ ก็นำเอาพลังงานทดแทนนี้มาใช้แทนมากขึ้น และพยายามลดการใช้เครื่องยนต์ดีเซลลงเนื่องจากใช้งานหนัก แต่จะใช้เครื่องดีเซลตัวเก่าเพื่อเสริมเฉพาะในช่วงหน้าแล้งจัด คาดว่าจะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลลงได้ไม่น้อยกว่า 80%"
ผลที่ได้รับจากการนำโครงการพลังงานทดแทนมาใช้งานภายในศูนย์ฯ
พ.ต.ท. พีระพงศ์ : "เมื่อประเมินผลจากจุดแรกที่ติดตั้งคือที่เขาบ่อขิงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จากโครงการนี้ ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากมีระยะยกน้ำสูงถึง 100 เมตร และความยาวของท่อปั๊มซึ่งมีปั๊ม 2 ตัว ก็มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้สามารถสูบน้ำขึ้นไปถึงยอดเขาได้ อาจกล่าวได้ว่า ผลในด้านการใช้งานในระบบสูบน้ำนี้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
"ในส่วนผลดีด้านอื่นๆ คงจะเป็นในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานสีขาวที่ไม่ก่อมลพิษ ส่วนอีกประการที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว ก็คือ พลังงานทดแทนที่ติดตั้งในศูนย์ฯ จะเป็นรูปแบบการสาธิตที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาดูงานและได้เห็นภาพการทำงานจริง เพราะที่นี่เป็นจุดหนึ่งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก นักศึกษาตามสถาบันต่างๆ จะได้มาศึกษา ได้มาดูการดำเนินงานในพื้นที่จริงๆ และเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ รวมทั้งในส่วนของราชการด้วย ซึ่งส่วนราชการบางแห่งอาจจะมีปัญหาในด้านการใช้จ่ายเรื่องของน้ำมัน เรื่องของการทำงาน ก็อาจจะมาดูรูปแบบ และจะได้รู้ว่าจะติดต่อได้ที่ไหน มีการติดตั้งอย่างไร และใช้งบประมาณเท่าไร ในส่วนอื่นก็คงจะเป็นผลพลอยได้ อย่างป่าก็จะได้รับน้ำเพิ่มขึ้นจากระบบนี้"




Monday, October 14, 2019

PTT เพิ่มปั๊ม B10 รองรับดีมานด์เพิ่ม-ร่วมแก้ PM 2.5

source : https://www.ryt9.com/s/iq05/3049708

ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พุธที่ 2 ตุลาคม 2562 16:45:07 น.

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ่ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี 10 เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น บริษัทพร้อมรับนโยบายเร่งผลักดันการขยายสถานีบริการพีทีที สเตชั่นที่มีน้ำมันดีเซล บี10 จำหน่าย โดยจะมีสถานีบริการพีทีที สเตชั่นที่จำหน่ายน้ำมันพีทีที อัล ตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี 10 จำนวน 70 แห่งทั่วประเทศภายในเดือน ต.ค.62 และจะขยายเป็น 200 แห่งทั่วประเทศภายในปี 62  

รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้คลังน้ำมันขนาดใหญ่ของ OR ทั่วประเทศพร้อมจ่ายน้ำมัน พีทีที อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.63 เพื่อเป้าหมายการมีน้ำมันดีเซล บี10 จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มี.ค.63 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่จะส่งเสริมให้น้ำมันดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหลักของประเทศ

สำหรับ น้ำมัน พีทีที อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลที่มีคุณภาพและความบริสุทธิ์สูงซึ่งได้รับการรับรองโดยสมาคมผู้ผลิตยานยนตร์ญี่ปุ่น (JAMA) ช่วยให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์ ช่วยลดควันดำได้ 42% และลดการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ 3.5% เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลปกติ จึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยสารเติมแต่งสูตรพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสารเพิ่มค่าซีเทน ช่วยให้เครื่องยนต์จุดระเบิดเร็ว เพิ่มกำลังของเครื่องยนต์ และสารทำความสะอาดหัวฉีด ป้องกันการอุดตันของหัวฉีด

การสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มดิบมาผลิตเป็นไบโอดีเซล บี100 และนำมาผสมเป็นน้ำมันดีเซล บี10 นี้ ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้ปลูกปาล์มได้โดยตรง นอกจากนี้ น้ำมันดีเซล บี10 ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลธรรมดาลิตรละ 2 บาท จึงถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันของผู้ใช้รถอีกด้วย

นอกจากนี้ OR ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในศูนย์บริการยานยนต์ ฟิตออโต้ ให้บริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ฟรี 30 รายการ และลดราคาค่าล้างแอร์ ไส้กรองแอร์ และไส้กรองอากาศ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย PTT เปิดเผยว่า ส่วนการเปิดร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน สาขาจู๋ซี ซึ่งเป็นสาขาแรกของประเทศจีน ในสถานีบริการน้ำมัน ซิโนเปค เมืองหนานหนิง (Nanning) มณฑลกว่างซี (Guangxi) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ล่าสุดพบว่าได้รับการตอบรับที่ดี และเตรียมที่จะเปิดอีก 2-3 แห่งภายในปีนี้ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มขยายสาขาในจีนตอนใต้ และจะขยายไปในสถานีบริการน้ำมันซิโนเปคในระดับมณฑลต่อไป

ปัจจุบัน คาเฟ่ อเมซอน เปิดให้บริการ รวม 10 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ไทย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และโอมาน โดย คาเฟ่ อเมซอน สาขาจู๋ซี เป็นสาขาล่าสุดที่ 2,924 ของโลก


ปตท.ผนึกสถาบันวิทยสิริเมธีเล็งผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

source : https://www.ryt9.com/s/nnd/3051083

ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 00:00:41 น.

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. โดย สถาบันวิทยสิริเมธี ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กำลังศึกษาระบบ กักเก็บพลังงาน คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม เป้าหมายในอนาคตตามนโยบายรัฐ โดยเฉพาะรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากเห็นถึงโอกาสในการเป็นผู้นำพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานที่ยังมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตพัฒนามากนัก

ทั้งนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 3-5 ปี จึงจะเห็นทิศทางที่ชัดเจน ว่าภาครัฐจะส่งเสริมอย่างไร เทคโนโลยีกับต้นทุนรถยนต์เป็นอย่างไร สมรรถนะ ความปลอดภัย สะดวกสบาย ประสิทธิภาพแบตเตอรี่เป็นอย่างไร และการชาร์จใช้ได้นาน แค่ไหน

"หากจะมีการนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ก็ไม่ต่างอะไรกับการนำเข้าน้ำมัน เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้ใช้ สภาพการจราจร ปริมาณไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐมีแผนอยู่แล้ว แต่จะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่และอย่างไรจึงจะเหมาะสม และให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ"นายชาญศิลป์กล่าว

ส่วน แนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลาพัฒนาอาจเห็นการขยายตัวในอีก 15-20 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันไม่ได้อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตรวดเร็ว และจากการศึกษารูปแบบอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศพบว่าจะพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าก่อนจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่เต็มรูปแบบ ดังนั้นปตท.ก็ยังคงให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) เป็นหลัก ควบคู่กับติดตั้งระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมบางปั๊มในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งนี้ ปตท.ยังร่วมกับ WM Motors ผู้ผลิตรถไฟฟ้ายี่ห้อ Weltmeister ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของประเทศจีน ศึกษาวิจัยและออกแบบระบบเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้านำร่องใช้ในองค์กรก่อน เป็นการต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์พลาสติกของกลุ่ม ปตท. เป็นต้นแบบทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานในอนาคต

Saturday, October 12, 2019

รายงานผลการประชุม กบง. 30 สิงหาคม 2562

source : http://www.eppo.go.th/index.php/th/component/k2/item/15103-news-300862



30 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเรื่องสำคัญ ดังนี้


 •การนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
      ที่ประชุม กบง. ได้รับทราบข้อเสนอของ กฟผ. และ ปตท. ที่จะร่วมกันบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ภายใต้การกำกับของ กกพ. แทนการลงนาม MOU รับทราบความก้าวหน้าของการเจรจาสัญญา Global DCQ ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 และเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้า LNG ของ กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่ กฟผ. และ ปตท.ที่ประชุม กบง. จึงมีมติให้ กฟผ. จัดซื้อ LNG แบบ Spot สำหรับการทดลองระบบการแข่งขัน ตามที่ กพช. ได้มีมติไว้เมื่อ 31 ก.ค. 60 และให้นำประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างราคาก๊าซฯ หลักเกณฑ์การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ต่อ กพช. พิจารณา สำหรับการไปเจรจาสัญญากับ Petronas มอบหมาย ให้ กฟผ. ไปเจรจา และการบริหารจัดการเรื่องสัญญาการใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ มอบหมาย ให้ กกพ. ปตท. กฟผ. ไปดำเนินการและให้นำเสนอ กบง. ต่อไป
      ทั้งนี้ กบง. ได้พิจารณาจากสถานการณ์ LNG ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยราคา LNG Spot ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 USD/MMBTU ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง ซึ่งการจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ ดังนั้น ความจำเป็นในการนำเข้า LNG มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งสำคัญคือการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ไม่ควรส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและต้องไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay อาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการแบ่งราคา LNG เป็น 2 Pool และข้อจำกัดของกฎหมายในกรณีที่ กฟผ. จะนำ LNG ไปจำหน่ายในตลาดอื่นก่อนดำเนินการต่างๆ ซึ่งจากการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว กบง. จึงมีมติเห็นชอบข้างต้น แต่ทั้งนี้ยังคงคำนึงถึงแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนในภาพรวม
      อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ ราคา CPO เริ่มมีแนวโน้มลดลง จาก 21.87 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 62 มาอยู่ที่ 16.75 บาทต่อกิโลกรัม ในวันที่ 26 ก.ค. 62 กบง. จึงมีมติขยายเวลาการให้ส่วนต่างราคาบี20 ออกไปอีก 2 เดือนดังกล่าว

•แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
      ที่ประชุม กบง. ได้รับทราบ ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) ให้พลังงานมีต้นทุนราคาเป็นธรรม และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordable) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้านพลังงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ (Energy For All) โดยมีแนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งมีกรอบนโยบาย คือ
      พื้นที่เป้าหมาย: พื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศที่สามารถส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ
      โครงสร้างพื้นฐาน: มีระบบส่งและระบบจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้
      งบประมาณสนับสนุน: เปิดให้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการสนับสนุนการลงทุนหรืออุดหนุนการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้าชุมชน
      แนวทางการจัดตั้ง: ให้ชุมชนมีส่วนร่วมลงทุนโรงไฟฟ้ากับภาครัฐและ/หรือเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามเป้าหมายแผน AEDP และสอดคล้อง กับแผน PDP2018 ตามศักยภาพพื้นที่ อาทิ พืชพลังงาน พลังงานแสงอาทิตย์ สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ราคารับซื้อกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด มีผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงาน รายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร
      โดยคาดว่า โรงไฟฟ้าชุมชนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 ก่อให้เกิดการเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบาย “Energy For All” และให้นำเสนอต่อ กพช. ต่อไป

•แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7)
      ที่ประชุม กบง. ได้เห็นชอบขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลฯ (บี7) ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลฯ (บี7) ที่ 3 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และเห็นชอบตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ให้บังคับใช้น้ำมันดีเซลฯ บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฯ เกรดพื้นฐาน โดยให้น้ำมันดีเซลฯ (บี7) และน้ำมันดีเซลฯ บี20 เป็นทางเลือก ผลจากการใช้กองทุนฯ ในนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี 10 ทำให้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ น้ำมันดีเซลฯ (บี7) จากปัจจุบัน 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 1.25 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลฯ บี 10 จากปัจจุบัน -0.35 บาทต่อลิตร เป็น -0.60 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากปัจจุบัน -4.20 บาทต่อลิตร เป็น -1.45 บาทต่อลิตร โดยการใช้กลไกด้านราคานี้จะเพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ สร้างความมั่นคงทางพลังงานที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบในประเทศ รักษาเสถียรภาพระดับราคา CPO ของประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และจะนำเสนอต่อ กพช. ต่อไป
      ทั้งนี้ ความพร้อมของการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี 10 คาดว่าสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในปัจจุบัน และผลผลิตปาล์มที่คาดการณ์ จะสามารถรองรับการใช้ CPO ตามเป้าหมาย ที่คาดว่าเดือน ธ.ค. 2562 จะมีการใช้ไบโอดีเซล บี100 ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน (เทียบเท่าการใช้ CPO 167,360 ตันต่อเดือน) มีผู้ผลิตไบโอดีเซล บี100 จำนวน 9 ราย ใช้ผสมเพื่อผลิตเป็นน้ำมันดีเซล บี 10 ได้ หรือ 6,892,242 ลิตรต่อวัน และมีค่ายรถยนต์รับรองว่าใช้น้ำมันดีเซลฯ บี10 ได้ประมาณ 5.2 ล้านคัน จากจำนวน 10.4 ล้านคัน หรือร้อยละ 50 ของรถยนต์ดีเซลทั้งหมด ในส่วนผู้ค้าน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ บี10 มีความพร้อม และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ สำหรับ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดือน ส.ค. 62 กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องสุทธิกลุ่มน้ำมัน 1,400 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,320 ล้านบาทต่อเดือน กลุ่มดีเซล 69 ล้านบาทต่อเดือน ฐานะกองทุนน้ำมันรวม ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2562 อยู่ที่ 38,210 ล้านบาท

 •กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
      กบง. ได้มีมติเห็นชอบ กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) เป็น “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” และเพื่อให้การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ความเหมาะสมและต่อเนื่อง โดยให้นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณา ต่อไป