Wednesday, November 1, 2017

มีผู้ตรวจฯ ไว้ทำไม ? คำถามที่มีคำตอบ จาก" สุชาลี สุมามาลย์ "

source http://energynewscenter.com/index.php/article/detail/113



มีผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานไว้ทำไม?  คำถามที่มีคำตอบ จาก "สุชาลี สุมามาลย์" หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานคนใหม่ 
คำถามจากประโยคยอดฮิตตามหน้าสื่อ ที่เอาไว้ถามถึงตำแหน่ง หรือบทบาทหน้าที่ ของตำแหน่งบางตำแหน่ง ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร และหลายครั้งถูกมองไปว่า ใครก็ตามที่ถูกย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงนั้น คือถูกย้ายมานั่งตบยุง  ซึ่งมีนัยยะว่าเป็นข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งที่ไม่มีงานสำคัญให้รับผิดชอบมากนัก และไม่มีลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง แต่ในข้อเท็จจริง เมื่อศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) มีโอกาสได้สัมภาษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานคนใหม่ป้ายแดง “สุชาลี สุมามาลย์” ก็ต้องบอกว่า ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานนั้น เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงพลังงานให้สัมฤทธิ์ผลได้เลยทีเดียว 

เพราะงานใหญ่ที่อยู่ในมือของหัวหน้าผู้ตรวจ สุชาลี คือ การผลักดันนโยบายพลังงาน 4.0 หรือ Energy 4.0 ให้ลงไปสู่ภาคปฏิบัติ ให้เกิดผลตามแผนปีงบประมาณ 2561 ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ เดือนต.ค. 2560 ไปสิ้นสุด เดือน ก.ย. 2561  โดยตัวเขาพยายามเน้นกระตุ้นให้พลังงานจังหวัดแต่ละจังหวัด คิดโครงการขนาดใหญ่ ที่ให้เกิดประโยชน์สะท้อนกลับในด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนที่ชัดเจน  โดยทำงานเป็นทีมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมทั้งตัวเขา 6 คน (แต่งตั้งแล้ว4 คน รอแต่งตั้งเพิ่มอีก 2 คน) 

หัวหน้าผู้ตรวจ สุชาลี บอกว่า บทบาทสำคัญของผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและปลัดกระทรวงพลังงาน ด้วยการติดตามการทำงานของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายไว้ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หรือมีอุปสรรคใดที่ต้องเข้าไปช่วยแก้ไข ดังนั้นการแบ่งงานให้กับทีมผู้ตรวจฯ จะแบ่งทั้งการดูแลกรมต่างๆในกระทรวงพลังงาน และแบ่งการดูแล พลังงานจังหวัด ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 18 เขต ซึ่งเท่ากับผู้ตรวจราชการฯแต่ละคนจะดูแลคนละ 3 เขต หรือครอบคลุมพื้นที่คนละ 12-13 จังหวัด    

โดยในปีงบประมาณ 2561 นี้ งานสำคัญของกระทรวงพลังงาน จะมุ่งเน้นนโยบาย Energy 4.0 (การนำนวัตกรรมด้านพลังงานมาสร้างมูลค่าเพิ่ม) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการเห็นพลังงานจังหวัดบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างชัดเจน แทนโครงการย่อยๆ ที่เคยทำมาในอดีต  อีกทั้งต้องเป็นโครงการที่ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นทางผู้ตรวจราชการฯ ซึ่งแต่ละท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องของพลังงานเป็นอย่างดี จะต้องเข้าไปช่วยให้คำแนะนำ และติดตามการดำเนินโครงการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐมนตรีได้ให้เอาไว้ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข 5 แผนหลักด้านพลังงาน คือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP)  แผนพัฒนาพลังงานทดแทน(AEDP)  แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP)  แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan)  โดยหากมีการดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศใช้แล้ว ทางผู้ตรวจราชการฯ พร้อมที่จะลงพื้นที่ในเขตที่ตัวเองรับผิดชอบ เพื่อทำหน้าที่ชี้แจงพลังงานจังหวัดทั่วประเทศให้ทราบถึงการปรับเปลี่ยนแผนใหม่และทิศทางต้องนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้บทบาทของผู้ตรวจราชการฯที่สำคัญอีกประการ คือ การเป็นกรรมการตรวจสอบวินัยป้องกันปัญหาการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นในกระทรวงพลังงาน โดยหากมีข้อร้องเรียนจากประชาชนหรือผู้ประกอบการด้านการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการ ก็จะเข้าไปสอบถามตรวจสอบข้อเท็จจริง และถ้าพบว่าผิดจริงจะไม่ให้การช่วยเหลือ แต่หากเป็นการถูกใส่ร้ายป้ายสี ก็ต้องให้ความเป็นธรรมและช่วยเหลือ เพื่อให้ข้าราชการที่ดีของกระทรวงพลังงาน ที่ประจำอยู่ ในแต่ละจังหวัดได้มีกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

“ที่ผ่านมามีโครงการโซลาร์ช่วยภัยแล้ง เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นโครงการที่ดี แต่มีผู้ประกอบการร้องเรียนข้าราชการว่าล็อคสเปคการประมูลอุปกรณ์ ผู้ตรวจราชการฯ จึงต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เป็นการร้องเรียนเพราะเสียผลประโยชน์ แต่ทำให้ข้าราชการเสียหาย เนื่องจากการกำหนดสเปคอุปกรณ์ก็เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาใช้งานได้จริง ดังนั้นเมื่อข้าราชการไม่ผิดเราก็ต้องให้กำลังใจ เพื่อให้คนดีที่ตั้งใจทำงานไม่ท้อแท้” หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ยกตัวอย่างในบางภารกิจ ของผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน 

นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการฯ ยังเปรียบเสมือน หู ตา ปากและสมองของผู้บริหารกระทรวงพลังงาน การเป็น “หู” คือรับฟังความคิดเห็นประชาชน ข้อร้องทุกข์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อยุติ การเป็น ”ตา” คือการติดตามดูงานว่าเป็นไปตามนโยบาย ระเบียบ เป้าหมายยุทธศาสตร์พลังงานและมีความก้าวหน้าหรือไม่อย่างไร ส่วนเป็น “ปาก” คือ คอยชี้แจง สร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติกับฝ่ายปฏิบัติงาน และรายงานให้ผู้บริหารได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริง หากเกิดปัญหาอุปสรรคก็ต้องขอความชัดเจนด้านนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงต่อไป และการเป็น “สมอง” คือ เมื่อทราบปัญหาก็ต้องวิเคราะห์แก้ไข รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้บริหารด้วย

และอีกหน้าที่ที่ผู้ตรวจราชการฯ ต้องทำ คือ การบูรณการการทำงานกับผู้ตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้การทำงานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สร้างการพัฒนาให้กับประเทศไทยต่อไป 

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านคงเข้าใจ และไม่ต้องถามใครต่อแล้วว่า มีผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ไว้ทำไม?





No comments:

Post a Comment